อาหารและสุขภาพ – ปลากดคัง เป็นปลาที่ค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ด้วยเป็นปลาที่มีเนื้อที่มีคุณภาพสำหรับเมนูอาหารหลายชนิด และจัดเป็นปลาที่สวยงามมากนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
สมัยทำงานที่ลาดกระบัง อาหารกลางวันก็มักฝากท้องไว้ที่ร้านประจำร้านหนึ่ง เมนูที่นิยมสั่งมาทานประจำๆ ก็คือ “ปลาคังลวกจิ้ม” ปลาคังลวกพอสุกเสิร์ฟกับน้ำจิ้มสูตรเด็ดน่าจะมีเต้าเจี้ยวเป็นส่วนผสมด้วย อร่อยเอามากๆ เสียด้วย ก็เลยมีความสนใจไปค้นๆ หาเรื่องปลาคังอ่านซักหน่อยแต่จะรู้คนเดียวก็ช่างกะไรอยู่ ก็เลยเอามาแบ่งๆ แชร์ๆ ความรู้กัน
ว่ากันว่าปลาคัง หรือ ชื่อเรียกเป็นทางการก็คือ “ปลากกดคัง” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Siam Redtail Catfish มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hemibagrus wyckioides อยู่ในวงศ์ปลากด (Bagaridae)
ที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/ปลากดคัง
สำหรับ ปลากดคัง มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นอีกหลายชื่อๆ เช่น ปลากดแก้ว ปลากดข้างหม้อ ปลากดหางแดง ปลากดเขี้ยว และ ปลาคัง (ชื่อที่ยมเรียกกันเวลาสั่งอาหารทานตามร้านอาหาร) เมื่อพิจารณาชื่อภาษาอังกฤษของปลากดคัง Siam Redtail Catfish ก็เข้ากับลักษณะของปลากดคังได้ดีทีเดียวเนื่องจาก ปลากดคังเป็นปลาที่มีหางสีแดงสดหรือแดงส้ม ที่ปากของปลากดคังจะมีหนวดรอบๆ เหมืนกับหนวดแมว ลำตัวจะเป็นสีเทาอมฟ้าหรือสีเขียวมะกอก ลำตัวใต้ท้องเป็นสีจางๆ ลักษณะที่แตกต่างจากปลากดชนิดอื่นๆ ก็คือปลากดคังไม่มีแถบขาวบนครีบหางส่วนบน สำหรับปลากดคังนี้เมื่อโตเต็มที่อาจจะมีขนาดยาวถึง 1.50 เมตร น้ำหนักถึง 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว แต่ขนาดของปลากดคังที่พบเห็นกันโดยทั่วๆ ไปจะมีขนาดประมาณ 0.50 – 0.60 เมตร สำหรับแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งที่พบปลากดคังโดยทั่วๆ ไปก็ตามแหล่งน้ำนิ่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือ แอ่งน้ำ
สำหรับปลากดคังนี้ ว่ากันว่าเป็นปลาที่มีเนื้อคุณภาพดีเป็นที่โปรดปรานของนักชิมหลายๆ ท่านเอาเสียด้วยสิ และก็เนื่องด้วยปลากดคังเป็นปลาที่มีความสวยงามในตัวมากเอาเสียด้วยสิ ดังนั้นเราจะเห็นสถานที่สำคัญๆ โรงแรมใหญ่ๆ ร้านอาหาร ฯลฯ มักนิยมนำปลากดคังไปเลี้ยงเป็นปลาตู้เพิ่มความสวยงามให้สถานที่ ดังนั้นปลากดคังจึงนับเป็นปลาที่มีค่าต่อเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง
สำหรับเนื้อปลากดคังเป็นที่นิยมนำมาทำเป็นเมนูอาหารไทยสูตรเด่นๆ หลายๆ เมนูเช่น ปลาคังลวกจิ้ม ผัดฉ่าปลาคัง ปลาคังทอด แกงป่าปลาคัง ต้มยำปลาคัง แกงคั่งปลาคังใส่ใบชะพลู ฯลฯ